เส้นเวลา ของ การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย

มกราคม 2563

ใบประกาศแจ้งเตือนผู้ป่วยที่กลับจากประเทศจีนและมีอาการ ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่พบการติดเชื้อในประเทศไทย สังเกตว่าระบุเฉพาะผู้ป่วยที่กลับมาจาก “ประเทศจีน” เท่านั้น

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 มีการพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันรายแรก นับเป็นรายแรกที่พบนอกประเทศจีน โดยเป็นหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในนครอู่ฮั่น เธอไม่เคยเดินทางไปยังตลาดอาหารทะเลหวาหนานมาก่อนแต่เคยไปที่ตลาดอื่นแทน เธอมีอาการเจ็บคอ มีไข้ มีอาการหนาวสะท้านและปวดศีรษะ ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้เดินทางกับครอบครัว และกลุ่มทัวร์จากนครอู่ฮั่นมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563 โดยเธอถูกตรวจพบด้วยกล้องตรวจจับความร้อน และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในวันเดียวกัน 4 วันให้หลัง จากการใช้ RT-PCR ผลการทดสอบหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นผลเป็นบวก[24][25][26]

ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 74 ปี ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครโดยเที่ยวบินจากนครอู่ฮั่น ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563[27] ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563 ชายอายุ 18 ปี เดินทางถึงยังเชียงใหม่ด้วยเที่ยวบินจากนครอู่ฮั่นถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนครพิงค์ และผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ได้ระบุว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีการส่งตัวอย่างเลือดไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจสอบ[28][29]

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าพบผู้ป่วยในประเทศไทยเป็นรายที่ 3 และ 4 โดยรายที่ 3 เป็นนักท่องเที่ยวชายชาวจีน อายุ 68 ปี คล้ายกรณีก่อนหน้า และรายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 74 ปี ซึ่งเดินทางกลับมาจากนครอู่ฮั่น และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม[30][31]

มีการยืนยันผู้ป่วยรายที่ 5 ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นหญิงชาวจีน อายุ 33 ปี เดินทางมาจากนครอู่ฮั่นพร้อมบุตรสาว อายุ 7 ปี ซึ่งไม่มีการติดเชื้อ มีรายงานว่าเธอเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ในสามวันให้หลังนับจากที่เดินทางถึงกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563[32]

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563 หน่วยราชการของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นหญิงชาวจีน อายุ 73 ปี ที่เดินทางมาจากนครอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563 และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนในหัวหิน เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 ผลการตรวจเลือดแรกให้ผลเป็นบวก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กำลังรอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการอื่นร่วมด้วย[33]

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงสรุปสถานการณ์ โดยมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 8 คน รวมถึงกรณีจากหัวหินด้วย เนื่องจากผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการออกแล้ว ทั้งหมดเป็นชาวจีน ยกเว้นหญิงไทยคนเดียวจากจังหวัดนครปฐม และผู้ป่วย 5 คนแรก ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว และมีผู้ต้องสงสัยรอการยืนยันอีก จำนวน 39 ราย[34]

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563 มีการยืนยันผู้ป่วยเพิ่มอีก 6 ราย โดย 5 คน เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันจากนครอู่ฮั่น และอีกรายมาจากฉงชิ่ง เป็นผลให้ประเทศไทยเริ่มคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวจีนทุกคนในทันที[35][36]

วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก 5 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรวมอยู่ที่ 19 ราย หนึ่งในนั้นเป็นคนขับรถแท็กซี่ ที่ไม่เคยเดินทางไปยังประเทศจีน และต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่รับมา ทำให้เป็นกรณีแรกของการแพร่ระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ของไวรัสในประเทศไทย มีรายงานว่าคนขับแท็กซี่ได้ติดต่อกับคนอื่นอย่างน้อย 13 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครอบครัว ก่อนจะเดินทางไปเข้ารับการรักษา[37] ส่วนผู้ป่วยรายอื่นเป็นชาวจีน[38][39]

กุมภาพันธ์ 2563

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ แพทย์ 2 คนจากโรงพยาบาลราชวิถี พบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากไวรัสโคโรนา โดยใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ (โอเซลทามิเวียร์) และเอชไอวี (โลปินาเวียร์และริโตนาเวียร์) โดยคนไข้อาการดีขึ้นอย่างมากภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากนำไปรักษา อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวได้ว่าวิธีการนี้จะสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยรายอื่นได้[40]

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยส่งเที่ยวบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ไปรับพลเมือง 138 คน ที่ติดอยู่ในนครอู่ฮั่นจากมาตรการปิดเมือง โดยเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ในเวลา 19:00 น. โดยในบรรดาผู้ได้อพยพมาทั้งหมด มีผู้มีไข้สูงถูกนำส่งโรงพยาบาล 6 ราย ส่วนที่เหลือถูกกักโรคไว้ที่สัตหีบ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และยังมีผู้ที่ไม่ได้อพยพอีก 3 คน ประกอบด้วยนักศึกษา 2 คน ที่มีไข้สูง และอีกคนเนื่องจากวีซ่าหมดอายุ[41] ในวันเดียวกัน มีการยืนยันผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก 6 ราย รวมถึงคู่สามีภรรยาชาวไทยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น และยังไม่แน่ชัดว่าทั้งคู่ติดเชื้อมาในระหว่างการเดินทาง หรือหลังจากกลับมาประเทศไทยแล้ว และอีก 2 กรณีเป็นคนขับรถซึ่งรับส่งผู้โดยสารชาวจีน[42]

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นอีก 6 ราย เป็นชาวจีน 2 ราย เป็นผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินอพยพเมื่อ 4 วันก่อน และที่เหลือเป็นชาวไทยที่ได้สัมผัสกับนักท่องเที่ยว รวมทำให้มีผู้ป่วยยืนยันเป็น 32 ราย[43]

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 33 ราย[44]

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการพบหญิงชาวไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 35 ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยเป็นกรณีแรกที่ผู้ป่วยเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขในประเทศไทย จากการสอบสวนพบว่า บุคคลนี้มิได้มีการสวมหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันขณะให้การรักษาผู้ป่วย[45] ทั้งนี้มีรายงานหลายแห่งออกมากล่าวว่าบุคคลนี้ทำงานอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง และภายหลังมีการชี้แจงโดยกระทรวงสาธารณสุข[46]

ต่อมานับเป็นเวลา 8 วันที่ไม่มีผู้ป่วยเพิ่มเติม จนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีการรายงานผู้ป่วยเพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ยอดรวมเป็น 37 ราย[47] สองวันต่อมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มเป็น 40 ราย เป็นชาวไทยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นคู่ตายายที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากจังหวัดฮกไกโด และได้แพร่เชื้อต่อไปยังหลานชายวัย 8 ปี ที่บ้าน ขณะก่อนเข้ารับการรักษา โดยมีกลุ่มเสี่ยงจำนวน 101 คนที่ทั้งคู่ได้สัมผัสด้วยซึ่งได้รับการตรวจหาไวรัส ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มทัวร์ สมาชิกในครอบครัว ผู้โดยสารที่เดินทางมาโดยเที่ยวบินเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อนร่วมชั้นของหลานชาย[48] กรณีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวว่า การที่คุณตาปกปิดประวัติการเดินทางเมื่อเดินทางไปพบแพทย์ ทำให้ตัวของคุณตาเองนั้นมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์[49]

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ มีการพบผู้ป่วยรายใหม่อีก ทำให้ยอดรวมเป็น 42 ราย โดยผู้ป่วยเป็นพนักงานขาย อายุ 21 ปี ซึ่งจากลักษณะการทำงานทำให้ต้องมีการสัมผัสกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ[50]

มีนาคม 2563

มาตรการป้องกันการติดเชื้อโดยการเว้นระยะห่างกับสังคม (Social distancing) โดยห้ามนั่งเก้าอี้ติดกัน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

วันที่ 1 มีนาคม กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศ เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ซึ่งมีอาการไข้เลือดออกมาแต่เดิมเมื่อปลายเดือนมกราคม ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาได้มีการส่งตัวต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 5 มีนาคม ภายหลังจากการทดสอบพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย จึงได้มีการรักษาและหายดีตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ไวรัสสร้างเอาไว้ที่ปอดของผู้ป่วยเกินกว่าจะรักษาได้ ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยกลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์[51]

15​ มีนาคม​ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี​ปลดอธิบดีกรมการค้าภายใน​[52]โดยให้ ทันตแพทย์ ​ประโยชน์​ เพ็ญสุต​ เป็นรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นคำสั่งที่วิพากษ์วิจารณ์​อย่างกว้างขวางเนื่องจากนายกรัฐมนตรี​สั่งปลดเองและแต่งตั้งเป็น กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ศบค.

17 มีนาคม รัฐบาลมีนโยบายให้ปิดสถานที่มีคนมารวมตัวกันเป็นกิจวัตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ง่าย โดยสถาบันการศึกษา สถาบันกวดวิชา ร้านนวด ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ให้ปิดตั้งแต่ 18–31 มีนาคม ขณะที่สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ให้ปิดทันทีจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค และให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และการทำงานที่บ้าน[53] วันที่ 23 มีนาคม ประชาชนในกรุงเทพมหานครทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัด[54]

24 มีนาคม กระทรวงสาธารณสุขยืนยัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิต 4 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 106 ราย รวมผู้ป่วยสะสมในไทย 827 ราย โดยผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ ชายไทย อายุ 70 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เป็นผู้ป่วยที่มีอาการวัณโรคร่วม รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร คนที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 79 ปี มีประวัติเดินทางไปดูมวยที่สนามมวย มีอาการหนักตั้งแต่แรกรับ มีโรคประจำตัวหลายโรค รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และคนที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี มีภาวะโรคเบาหวานและโรคอ้วนอยู่เดิม รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ[55]

วันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน โดยมีระบุสิ่งที่ห้ามทำและให้ทำ เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนดตามคำสั่งผู้ว่าฯ ห้ามคนทั้งหลายเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย (มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลต่าง ๆ) ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามแพร่ข่าวเท็จ เป็นต้น[56] นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (ศบค.)[57]เป็นหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ[58]

ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม ปิดบริการเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และร้านอาหารแบบนำกลับบ้าน

เมษายน 2563

3 เมษายน รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00–04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น[59]

วันที่ 9 เมษายน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่ามีการค้นหาโรคเชิงรุก (Active case finding) และกำลังเฝ้าติดตามคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุว่าได้ชี้เป้าหมายให้จังหวัดภูเก็ตดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค หลังพบผู้ป่วยในจังหวัดภูเก็ต 158 รายตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางจังหวัดมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ร้านนวดขยายทั้งจังหวัด และปิดช่องทางเข้าออกจังหวัด[60] 17 เมษายน พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง แถลงว่าจากการลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกับเพจ หมอแล็บแพนด้า ทำให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย[61]

รายงานการศึกษาพฤติกรรมคนไทยในช่วงล็อกดาวน์จัดทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนในเขตเมืองปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐค่อนข้างดีมากกว่า 75% ทุกมาตรการ แต่คนยากจนในเขตเมืองและคนชนบทยังปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้น้อย เนื่องจากเลี่ยงพื้นที่แออัดไม่ได้ และคนชนบทยังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ งานวิจัยพบว่า 89% ของกิจกรรมเกิดขึ้นในบ้านพักตนเองหรือญาติ ประชาชนติดตามข่าวสารน้อยลงและมีความตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ลดลงมากหลังจากล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ และพบว่าหากมีการล็อกดาวน์ต่อ ความตั้งใจในการปฏิบัติตามอาจไม่กลับสู่ค่าเดิมในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ได้อีก[62]

แถวประชาชนที่รอรับแจกอาหาร ถ่ายที่เกาะสมุย

วันที่ 20 และ 22 เมษายน เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่จับผู้แจกอาหารให้แก่ผู้มารอรับบริจาคทั้งที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดภูเก็ตตามลำดับ[63] ด้านกรุงเทพมหานครมีข้อกำหนดสำหรับการแจกอาหาร เช่น ให้เจ้าหน้าที่ช่วยแจก แจกในที่ที่ราชการกำหนด หรือใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่[64] 25 เมษายน มีข่าวว่าราชการอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ไม่รับประสานการแจกของบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีคำพูดว่า "จะแจกเพื่ออะไร อยากได้หน้า หรือหาเสียง"[65]

24 เมษายน ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดฯ สถานการณ์ฉุกเฉิน และให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่ออภิปรายปัญหาโควิด-19[66]

25 เมษายน ศบค. เปิดเผยว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 รายจากการตรวจหาเชื้อในแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์กักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ. สะเตา จ. สงขลา[67]

พฤษภาคม 2563

เจ้าหน้าที่ประจำห้างค้าส่งแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ให้ลูกค้าสแกนไทยชนะ ก่อนเข้าภายในอาคาร

3 พฤษภาคม ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 ใน 6 กลุ่มกิจกรรมในโซนสีขาว ให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ ได้แก่ ตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง กีฬาสันทนาการ ร้านตัดผมและเสริมสวยและร้านตัดผมและฝากเลี้ยงสัตว์ ของ ศบค. มีผล[68] วันเดียวกัน จังหวัดยะลาพบจำนวนผู้ป่วยจากการตรวจหาผู้ป่วยใหม่เชิงรุกจำนวน 23 คน ด้านโฆษก ศบค. แถลงว่า จากกระแสข่าวที่ตรวจพบผู้ป่วยใหม่ 40 รายก่อนหน้านี้นั้นเป็นตัวเลขสัดส่วนที่มากผิดปกติ จึงสั่งให้มีการทบทวนใหม่ก่อน และยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อมูล[69]

4 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 รายที่ศูนย์กักคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา[70] วันเดียวกัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และมีจังหวัดเกินครึ่งหนึ่งของประเทศที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์หลัง แต่จะยังเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สองต่อไป[71]

13 พฤษภาคม ศบค. แถลงว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็นวันแรก และเป็นวันที่ 17 ที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 10 คน นอกจากนี้ ภายใน 28 วันที่ผ่านมามี 50 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม โดยจำนวนผู้ป่วยสะสมยังคงมากในกรุงเทพมหานครและภาคใต้[72]

17 พฤษภาคม ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ตามประกาศของ ศบค. มีผลบังคับโดย อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน แต่ให้ปิดบริการเวลา 20.00 น. และปรับเวลาการเริ่มเคอร์ฟิวจาก 22.00 เป็น 23.00 น. แต่ยังคงงดและชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด[73]

27 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีมีมติต่อ พรก. ฉุกเฉินอีก 1 เดือน มีกำหนดสิ้นสุด 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563[74] รวมทั้งการผ่อนปรนระยะที่ 3 และลดระยะเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00–3.00 น.[75]

มิถุนายน 2563

1 มิถุนายน ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ตามประกาศของ ศบค. และสามารถเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดได้[76]

15 มิถุนายน เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 4 มีผลบังคับให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน และสามารถใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสามารถเปิดโรงเแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และเครื่องดื่มทั่วไป อนุญาตให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ยกเว้น สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่พำนักอาศัย สามารถเปิดได้แต่ต้องมีมาตรการ ยกเว้นสถานบันเทิง สถานแข่งขัน[77]

24 มิถุนายน ศบค. ประกาศผ่อนปรนระยะที่ 5 ซึ่งรวมถึงธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงอาบน้ำ โรงน้ำชา ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต[78] 30 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีต่ออายุ พรก. ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยมีคำสั่งห้ามชุมนุม ห้ามกักตุนสินค้า และห้ามเสนอข่าวเท็จ[79]

กรกฎาคม 2563

8 กรกฎาคม พบกรณีทหารอียิปต์จากเครื่องบินทหารพบติดโควิด-19 แต่ไม่ได้กักตัว และ 10 กรกฎาคม พบผู้ป่วยเด็กครอบครัวของอุปทูตซูดานติดโควิด-19 แต่ไม่ได้กักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ[80] 14 กรกฎาคม ศบค. ชี้แจงว่า กรณีทหารอียิปต์ใช้เพียงวิธีระบบติดตามตัวเท่านั้น[81] มีคำสั่งกักตัวผู้ใกล้ชิดจากการบินไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[82][83] นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง[84]

สิงหาคม 2563

ในวันที่ 19 สิงหาคม มีรายงานพบผู้ป่วยที่อาจเป็นการติดเชื้อรายแรกในประเทศในรอบ 86 วัน แต่ขณะนี้กำลังรอผลตรวจ[85] วันที่ 21 สิงหาคม โฆษก ศบค. ประกาศว่าที่ประชุมมีมติขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน จนหมดเขตวันที่ 30 กันยายน โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างด้าวหลายเส้นทาง พร้อมกับให้เหตุผลว่า ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจาก พรก. ฉุกเฉิน และที่ประชุม ศบค. ได้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายมากแล้ว เช่น เปิดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษา[86]

กันยายน 2563

วันที่ 3 กันยายน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศในรอบ 100 วัน โดยเป็นผู้ต้องขังชายที่ต้องโทษในคดียาเสพติด และก่อนหน้านั้นทำงานเป็นดีเจ โดยมีการตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 2 กันยายน หลังจากพบอาการมีเสมหะเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม[87]

ตุลาคม 2563

วันที่ 20 ตุลาคม นักท่องเที่ยวจีนจำนวน 41 คนจากเซี่ยงไฮ้เดินทางถึงประเทศ โดยเข้ากักตัว 14 วัน[88]

ธันวาคม 2563

วันที่ 19 ธันวาคม มีการเปิดเผยว่าผลตรวจแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อ 516 คน[89] วันที่ 23 ธันวาคม ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อลามไป 22 จังหวัด ด้านแพทย์กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า เชื้อมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย[90]

มกราคม 2564

วันที่ 4 มกราคม ศบค. สั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, และตราด ยกเว้นเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน[91]ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด[92]โดยมีหลักเกณฑ์การตรวจคัดกรองในการเข้าออกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดรวมไปถึงพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด [93]

ใกล้เคียง

การระบาดทั่วของโควิด-19 การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย การระบาดทั่วของโควิด-19 เรียงตามประเทศและดินแดน การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศทาจิกิสถาน การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศซาอุดีอาระเบีย การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศแทนซาเนีย การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศบังกลาเทศ การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศเกาหลีเหนือ การระบาดทั่วของโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การระบาดทั่วของโควิด-19 ในทวีปยุโรป

แหล่งที่มา

WikiPedia: การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย http://Coronamapper.com http://www.moicovid.com/09/01/2021/uncategorized/2... http://www.cidrap.umn.edu/news-perspective/2020/01... http://www.who.int/csr/don/14-january-2020-novel-c... //www.worldcat.org/issn/0362-4331 http://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/... https://www.health.qld.gov.au/news-events/health-a...